พูดคุยกับผู้หญิงเก่ง 4 คน 4 Gen

  ถ้าพูดถึงวงการ Lighting Production หลายๆ คนคงคิดว่า คนที่ทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่น่าจะต้องเป็นผู้ชาย แต่หารู้ไม่ว่างาน Lighting Design แม้แต่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ก็สามารถทำได้ และทำได้ดีไม่แพ้ผู้ชายอีกด้วย วันนี้เราก็มีบทสัมภาษณ์ที่สร้างพลังใจและไฟในการทำสิ่งที่รักผ่านเรื่องราวของผู้หญิงที่ทำงานในวงการ Lighting 4 คน 4 Gen มาแนะนำให้ได้รู้จักกัน

บทสัมภาษณ์ ครูสุ

ริ่มต้นมาทำอาชีพ Lighting Designer ได้อย่างไร ?
   รู้จักอาชีพนี้จากครูติ๋ม ผศ. สมพร โถปัญญา (ฟูราจ) อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านให้วิชานี้มา

ความประทับใจแรกที่มีต่องาน Lighting Design คืองานอะไร ?
   มี 2 งาน งานแรกคือละครเรื่อง สิงหไกรภพที่ภัทราวดี เธียเตอร์ เป็นงานที่ได้เป็น operator ครั้งแรก งานนั้นทำให้รู้ว่าชอบอาชีพนี้ งานที่ 2 คืองานที่ออกแบบแสง ให้กับการแสดง ร่าย พระไตรปิฎก 1 ทำให้รู้ว่างานออกแบบแสงทำให้เราสนุกและมีความสุข ที่ได้เห็นสิ่งที่คิดปรากฎต่อหน้าคนอื่นๆ

แรงบันดาลใจหรือบุคคลต้นแบบในการทำงาน ?
   ครูติ๋ม ผศ. สมพร โถปัญญา ครูที่สอนให้คิดสอนให้ทำเต็มที่ และดีที่สุดเสมอ ไม่ว่าจะงานใหญ่หรือเล็ก

นฐานะที่เป็นผู้หญิง มีข้อได้เปรียบในการทำงานในอาชีพนี้อย่างไร  ?
   อาจจะเป็นเรื่องวิธีพูดคุยที่อีกฝ่ายจะสุภาพกว่าปกติ (มั้ง)

มีข้อจำกัดในการทำงานมั้ย ?
    ในอดีตเคยเจอบ้างที่เขาคิดว่า เราไม่รู้จริงในสิ่งที่พูด ปัจจุบันอาชีพนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีผู้หญิงทำอาชีพนี้หลายคน เลยไม่เจอแล้ว

งานที่ชื่นชอบ (ทั้งที่ตัวเองทำหรือได้ดูมา) ?
   ชอบ War Horse มาก เพราะ Paule Constable ผู้ออกแบบแสง นำคุณลักษณะของอุปกรณ์แสงมาใช้ได้อย่างเหมาะสมมากๆ อีกงานนึงคือ สิงหไกรภพ จากการออกแบบแสงของครูติ๋ม ครูสามารถทำให้เวทีกลางแจ้งเล็กๆกลายเป็นสถานที่ต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยการใช้อุปกรณ์แสงง่ายๆแค่ไฟ par 64 60 ดวงและ par 46 อีก 4 ชุด

มมองต่ออนาคตของอาชีพนี้ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามาแย่งอาชีพของมนุษย์ ?
    งานเราเป็นงานออกแบบที่ต้องเข้าใจแก่นของเรื่อง และวิธีการแสดงของนักแสดง ถ้าปัญญาประดิษฐ์ทำได้ดีกว่าคนเมื่อไหร่สงสัยจะตกงาน

ถ้าอยากมาทำอาชีพนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
    ตาดู หูฟัง ช่างอ่าน ช่างคิด (จินตนาการ) และมีความสุขกับงาน เพราะงานนี้หนักและเหนื่อย มาก่อนกลับทีหลัง ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีเสียงปรบมือให้ มีแต่ความสุขเมื่อมีคนชมว่า นักแสดงดี ฉากสวย เสื้อผ้าดีงาม มีผู้รู้กล่าวว่า "ไม่มีคนดูเห็นแสงจนกว่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น" แล้วพบกันบนเวทีค่ะ

บทสัมภาษณ์ พี่โป้

เริ่มต้นมาทำอาชีพ Lighting Designer ได้อย่างไร ?
   เริ่มจากตอนม.ปลาย ได้ทำละครเวทีที่โรงเรียน เลยทำให้เกิดความสนใจศาสตร์นี้ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกที่จะเรียนด้านศิลปะการละครต่อตอนแรกทีชอบเพราะสนุก ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆชอบความเครียดในระยะสั้น เสพย์ติดอะดรีนาลีนที่มันสูบฉีดตอนที่ทุกอย่างมันเร่งด่วนและมีปัญหาให้แก้ไขเลยทำให้ติดใจการทำละครเวทีขึ้นมา พอเรียนจบก็อยากทำเป็นอาชีพ แต่ช่วงนั้นเมืองไทยยังไม่มีอาชีพนี้อย่างจริงจัง เลยเลือกที่จะไปเรียนต่อที่แคนาดา ส่วนที่เลือกมาเป็นนักออกแบบแสงนั้น เพราะมันมีความท้าทายอะไรบางอย่าง การออกแบบแสงเป็นงานที่ใช้ทักษะหลากหลายบูรณาการขั้นสุด การหาสมดุลของศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้แล้วทำให้มันมาปรากฎในงาน เป็นความสนุกที่เรารู้สึกว่าหาได้ยากในอาชีพอื่นๆ

ความประทับใจแรกที่มีต่องาน Lighting Design คืองานอะไร ?
   ความประทับใจแรกเกิดขึ้นแบบจับพลัดจับผลู เข้าปี 1 มาที่ภาคศิลปะการละครมีละครเรื่อง นิทราชาคริต เล่นที่หอประชุมใหญ่จุฬาฯ เราถูกส่งไปอยู่ฝ่ายแสง ไปช่วยพี่ฉิง (พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์) ซึ่งเป็นนักออกแบบแสงในตอนนั้นถือเป็นความโชคดีที่เราได้เห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ เห็นพัฒนาการของแสง ตั้งแต่เริ่มแขวนไฟ โฟกัส ทำคิว ไปจนถึงตอนละครเล่นจริงมันทำให้เราเห็นถึงความมหัศจรรย์ของแสงไฟว่า มันมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนดูมาก และสามารถช่วยส่งเสริมละครบนเวที ทั้งในแง่ของบรรยากาศ ความรู้สึก และความหมาย

แรงบันดาลใจหรือบุคคลต้นแบบในการทำงาน ?
   ไม่มี เราไม่ได้เกิดมาในยุคของการหาไอดอล หรือต้องมีแรงบันดาลใจอะไรมากมาย เราเน้นการหาความต้องการของตัวเองมากกว่า คิด เลือก ตัดสินใจ วางแผน แล้วก็ทำตามแผน ทำไม่ได้ ก็คิดใหม่ เลือกใหม่ ตัดสินใจใหม่วางแผนใหม่ แล้วก็ทำตามแผนใหม่ วนไปจนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ แรงบันดาลใจหรือแรงขับเคลื่อนมันมาจากว่า เราต้องการสิ่งนั้นๆมากแค่ไหนเท่านั้นเอง

ในฐานะที่เป็นผู้หญิง มีข้อได้เปรียบในการทำงานในอาชีพนี้อย่างไร ?
   เราไม่ได้มองว่าการเป็นเพศอะไรจะทำให้ทำอะไรได้ดี มันอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า ความรู้ ความสามารถประสบการณ์น่าจะเป็นตัวบ่งบอกได้ดีที่สุดว่าคุณทำอาชีพของคุณได้ดีรึเปล่า

มีข้อจำกัดในการทำงานมั้ย ?
   สืบเนื่องมาจากคำตอบข้อที่แล้ว พอเราไม่ได้เอาเรื่องเพศมาเป็นที่ตั้ง เราเลยไม่ค่อยได้สังเกตว่า การเป็นผู้หญิงมันเป็นอุปสรรคในการทำงานอย่างไรด้วยตัวงานออกแบบแสงจริงๆ แล้วมันมีข้อจำกัดอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา งบประมาณหรือข้อจำกัดด้านเทคนิคต่างๆ สำหรับเรา เรื่องการเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย มันเลยไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทำงานให้ดีก็พอ

งานที่ชื่นชอบ (ทั้งที่ตัวเองทำหรือได้ดูมา) ?
   เราชอบงานแทบทุกชิ้นของ Kevin Lamotte Lighting Designer ที่แคนาดา สิ่งที่เราชอบคือ เขาทำงานละเอียดมากไฟทุกดวงที่แขวนมีหน้าที่สำคัญของมัน ภาพทุกภาพที่เกิดขึ้นบนเวทีผ่านการเลือกการคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า แสงในฉากนั้นๆ ทำหน้าที่อะไรในเรื่อง งานของเขาไม่ใช่งานที่หวือหวาไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่อะไร แต่มันเหมาะเจาะ พอเหมาะพอดีไปซะทุกสิ่งโดยที่แสงไม่ไปแย่งซีนใคร เป็นแสงที่ไปพร้อมๆ กับละคร จนเราไม่สามารถแยกออกได้เลยว่า เราดูฉากนี้แล้วประทับใจเพราะส่วนประกอบไหนบนเวที ถ้าเป็นงานของตัวเอง คำตอบอาจจะดูอุดมคติหน่อยๆ เพราะเราชอบทุกงานที่เราทำ เราว่ามันเป็นสิ่งที่คนทำงานศิลปะทุกคนจำเป็นต้องมี คือต้องผลิตงานที่ตัวเองชอบให้ได้ก่อน ต้องเคารพในมาตรฐานของตน ทำจนกว่าตัวเราเองจะพึงพอใจ และทำให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้ข้อจำกัด ณ เวลานั้นๆ

มุมมองต่ออนาคตของอาชีพนี้ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามาแย่งอาชีพมนุษย์ ?
   เอาจริงๆ เป็นประเด็นที่เราไม่เคยคิดกังวลมาก่อน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะไปไกลแค่ไหน เพราะเราเชื่อมั่นเสมอว่า มนุษย์ยังโหยหาปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารต่อกันอยู่ ความสนุกของการทำงานด้านนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนไหนคือ การได้สร้างสรรค์อะไรขึ้นมาด้วยกันกับเพื่อนมนุษย์ งานศิลปะหล่อหลอมมาจากภูมิหลัง ประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ และนี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนดูเชื่อมโยงกับตัวงานนั้นๆ ได้คอมพิวเตอร์อาจจะสร้างงานที่สวยสมบูรณ์แบบออกมาได้ดี แต่งานที่สวยแต่ไร้ความรู้สึกมันตื้นเขินไร้ความหมาย ยังไงก็อยู่ได้ไม่นาน

ถ้าอยากมาทำอาชีพนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
   เรื่องการหาทักษะหรือการเตรียมตัวไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะเราเชื่อว่า ใครก็ตามหากตั้งใจมุ่งมั่นจะทำอะไรแล้ว เขาจะหาหนทางของตัวเองจนเจอ จะเกิดความใฝ่รู้และพัฒนาตัวเองขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ที่สำคัญกว่าการเตรียมตัว คือการเตรียมใจมากกว่า ทางเดินในสายอาชีพนี้มันเหนื่อยทั้งกาย ใจ สมอง และการเงิน เป็นงานที่เราต้องทุ่มเทพลังงานลงไปสูงมาก มันจะไม่คุ้มเลยถ้า เราไม่ได้มี passion กับมันเป็นตัวตั้งต้น เพราะมันเป็นเรื่องของการเติมเต็มจิตใจล้วนๆ สำหรับใครก็ตามที่กำลังคิดจะมาทำงานออกแบบแสง เราอยากให้ลองมองความเป็นจริงของอาชีพนี้มากกว่า มองให้ผ่านความเก๋ ความสนุกแบบชั่วครั้งชั่วคราว แล้วคิดอย่างจริงจังว่า เรายอมรับกับเงื่อนไขต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตเราได้มั้ย ถ้าได้ ก็ทำเลย

บทสัมภาษณ์ เมย์

เริ่มต้นมาทำอาชีพ Lighting Designer ได้อย่างไร ?
   เริ่มจากตอนเรียนมหาวิทยาลัย สาขาศิลปะการแสดง เอกการละครม.ราชภัฏสวนสุนันทา (ทำไมต้องบอกละเอียดขนาดนี้...เพราะว่าเผื่อน้องๆ ที่สนใจด้านนี้ จะได้เข้ามาเรียนหรือต่อยอดได้ถูกค่ะ) แล้วการจะสร้างละครเวทีซักเรื่อง ก็ควรมีเรื่องแสงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยจึงจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ตอนนั้นทางสาขามีโครงการส่งนักศึกษาที่สนใจด้านนี้ เข้ามาอบรมพื้นฐานกับทาง LightSource จำได้ว่าตอนนั้นตื่นเต้นมาก ไม่รู้สึกเบื่อเลยทุกอย่างดูแปลกใหม่ และน่าค้นหาไปหมด รู้สึกว่าเหมือนมันไม่มีจุดสิ้นสุดของความอยากรู้เลย หลังจากนั้นก็เริ่มนำไปใช้จริงในการเรียนละคร ทำทีสิสให้พี่ๆ เพื่อนๆ สอนน้องๆ พอเรียนจบจึงตั้งใจสมัครงานที่นี่ต่อเลย เริ่มจากเรียนรู้การออกแบบแสงงานละคร ไปพร้อมๆ กับเก็บเกี่ยวประสบการณ์การออกแบบแสงงานคอนเสิร์ต และเรียนรู้อุปกรณ์ต่างๆ แม้จะผ่านหลายปีแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าการออกแบบแสงไม่เคยน่าเบื่อ และสอนอะไรใหม่ๆ ให้เราตลอดเวลา

ความประทับใจแรกที่มีต่องาน Lighting Design คืองานอะไร ?
   เรื่องความประทับใจจริงๆ มีเยอะมากค่ะ แต่ถ้าประทับใจครั้งแรก และประทับใจมากจริงๆ น่าจะเป็นงานละครเรื่อง ลมหายใจ the musical 2559 เป็นงานที่เราคิดและวิเคราะห์ออกมาในแบบของคนเรียนละครจริงๆ (แม้ในบางอย่างที่คิดอาจจะไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาจริง) การวิเคราะห์ตัวละคร วิเคราะห์จากบท หรือเนื้อเพลง แล้วสื่อสารผ่านออกมาในแง่ของแสง ในการเลือกใช้อุปกรณ์หรือสีให้เข้ากับห้วงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร

แรงบันดาลใจหรือบุคคลต้นแบบในการทำงาน ?
   แรงบันดาลใจ คือ พี่ลูกอิน อรุณโรจน์ ถมมา ค่ะ ผู้หญิงตัวเล็กทำไฟ เห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงเราก็ทำได้นี่ สบายมาก ส่วนบุคคลต้นแบบมีหลายคนมากค่ะ อยากจะหยิบเอาเรื่องเก่งของหลายๆ คนมาผสมๆ กัน

ในฐานะที่เป็นผู้หญิง มีข้อได้เปรียบในการทำงานในอาชีพนี้อย่างไร ?
   รู้สึกว่าความเป็นผู้หญิงทำให้เราละเอียดรอบคอบในการทำงาน ถ้าพูดจาน่ารักใครๆ ก็อยากทำงานด้วย ด้วยความเป็นเพศที่อ่อนโยนอ่อนไหว จึงเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งกว่าในเรื่องของการตีโจทย์ต่างๆ

มีข้อจำกัดในการทำงานมั้ย ?
   เรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่องความเสี่ยงในการเดินทาง เนื่องจากส่วนใหญ่จะต้องทำงานเวลากลางคืน การแต่งกายก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายในการทำงานมากกว่าแฟชั่น การวางตัวกับคนที่เราทำงานด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เราจึงควรวางตัวให้เหมาะสมกับในทุกๆ สถานการณ์

งานที่ชื่นชอบ (ทั้งที่ตัวเองทำหรือได้ดูมา)?
   Miss Saigon กับ Les Miserables

มุมมองต่ออนาคตของอาชีพนี้ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามาแย่งอาชีพมนุษย์ ?
   ถ้าในเรื่องของการออกแบบ ยังรู้สึกว่าปัญญาประดิษฐ์ ไม่สามารถแย่งอาชีพนี้ได้ในเร็วๆ นี้ เพราะงานการออกแบบละเอียดอ่อนกว่านั้น งานออกแบบที่ดีต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์หลายอย่าง บางครั้งขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกประสบการณ์ และการเรียนรู้แม้จากสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยซ้ำ แต่ปัญญาประดิษฐ์ก็อาจจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกได้ในด้านของอุปกรณ์ เทคนิคและวิธีการทำงาน ให้เรานักออกแบบทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้นและประหยัดทรัพยากรมากขึ้น

ถ้าอยากมาทำอาชีพนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
   เตรียมร่างกายให้แข็งแรง รับได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งการอดนอนหรือนอนน้อยก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้ plan ล่วงหน้า ครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องเข้าใจ และพร้อมสนับสนุน เพราะงานนี้ค่อนข้างกินเวลาชีวิตไปมาก เปิดสมองและเปิดใจรับสิ่งใหม่ตลอดเวลา เพราะงานด้านนี้พัฒนาตลอด ทั้งเรื่องอุปกรณ์และวิธีการออกแบบก่อนจะเป็นนักออกแบบที่ดี นอกจากการคิดเป็นแล้ว ต้องปฏิบัติจริงให้เป็นด้วย ในเรื่องของการเข้าใจในระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ

บทสัมภาษณ์ น้องอิ๊ง

เริ่มต้นมาทำอาชีพ Lighting Designer ได้อย่างไร ?
   ตอนแรกไม่ได้อยากทำอาชีพนี้ แต่ด้วยความที่อยู่กับวงการการแสดงมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่รู้จักอาชีพนี้จนได้เริ่มทำงานการแสดงกับ อ.สาธิต ไกวัลวรรธนะ อาจารย์ได้แนะนำและชี้ทางให้กับอิ๊งค์ ตอนแรกอิ๊งค์อยากเป็นนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้น และได้มีโอกาสไปเรียนที่ Loyola Marymount University(LMU) อเมริกา ที่นั่นอิ๊งค์ได้เรียนรู้เยอะขึ้นเกี่ยวกับวงการนี้และได้เป็น Lighting Programmer กับ Operator สำหรับการแสดงเต้นของคณะ และได้ทำงานกับ Lighting Designer มืออาชีพครั้งแรก ก็เริ่มมีความสนใจในอาชีพนี้ เพราะทำแล้วมันสนุก และเริ่มชอบงานด้านนี้มากขึ้นทุกวัน ด้วยคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่และอาจารย์หลายๆ ท่าน อิ๊งค์เลยลองสมัครและโชคดีที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยเฉพาะทางเกี่ยวกับการแสดงที่อังกฤษ ตั้งแต่นั้นมาก็รักและทำงานอยู่กับวงการนี้ค่ะ

ความประทับใจแรกที่มีต่องาน Lighting Design คืองานอะไร ?
   ก็ต้องเป็นงานที่เป็น Programmer (งานแรกๆ ของเรา) ให้กับอ. Lighting Designer ตอนที่อยู่ลอสแองเจลิสค่ะ ตอนนั้นเพราะเป็น Programmer เลยได้ทำงานใกล้ชิดและได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของ Lighting ต่อการแสดง ปกติแล้วเราก็จะฝึกซ้อมเต้นอยู่แต่ในสตูดิโอ เลยชินกับการเต้นแบบพื้นๆ แต่พอได้เห็นการแสดงเต้นบนเวทีพร้อมกับไฟที่อาจารย์ได้ดีไซน์แล้ว เห็นความแตกต่างเลยค่ะว่า Lighting นี่มันช่วยขยายความหมายและความรู้สึกที่นักออกแบบท่าเต้นและนักแสดงพยายามจะบอก และทำให้การแสดงสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นจริงๆ ค่ะ

แรงบันดาลใจหรือบุคคลต้นแบบในการทำงาน ?
   สำหรับอิ๊งค์แล้วแรงบันดาลใจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ค่ะ แค่เดินออกจากบ้านก็ได้เห็นสีสันของแสงที่อยู่รอบตัวเราแล้ว เวลาเราดีไซน์อะไรบนเวทีมักจะมีแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของเรา นอกจากนี้แล้วบุคคลต้นแบบที่อิ๊งค์ชื่นชอบเป็นพิเศษก็จะมีอยู่ 2 คน คนแรกคือ Lucy Carter ซึ่งเป็น Lighting Designer สำหรับงานเต้นชื่อดังหลายๆ งาน และอีกคนคือ Paule Constable ซึ่งได้ดีไซน์การแสดงระดับ West End และ The National Theatre ของอังกฤษดีไซเนอร์ 2 ท่านนี้มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบที่ไม่เหมือนใครจริงๆ ค่ะ

ในฐานะที่เป็นผู้หญิง มีข้อได้เปรียบในการทำงานในอาชีพนี้อย่างไร ?
   ในวงการนี้การที่เป็นผู้หญิงนี้มันยากมาก ไม่ใช่เพราะผู้หญิงทำงานนี้ไม่ได้ แต่เพราะว่าในวงการเรานั้นมีผู้ชายอยู่เยอะ ทำให้ดูเหมือนมีการแบ่งแยกและตัดสินคนเพราะเพศของเขา แต่การทำงานอาชีพนี้เพศของเราไม่สำคัญเลยแม้แต่นิดเดียว จะเป็นเพศไหนก็ได้ แต่ความสามารถต้องมาก่อน ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงและทำงานอาชีพนี้ เรามีข้อดีที่แตกต่างไปจากคนอื่นและสำคัญมากๆ คือเราจะต้องมีความคิดที่ดี สร้างสรรค์ ตั้งใจและพยายามในการทำงานก่อนเป็นอย่างแรก

มีข้อจำกัดในการทำงานมั้ย ?
   คิดว่ามีข้อจำกัดเยอะนะคะ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 แต่ก็ยังมีหลายคนที่เห็นว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงไม่ควรยกของ ทำงานหนัก ไม่น่าจะมีความรู้เรื่องไฟฟ้าเยอะเท่า ทำให้มีคนดูถูกความรู้และความสามารถของเราเพราะเราเป็นผู้หญิง ถ้าความคิดนี้ไม่เปลี่ยนเราจะสูญเสียคนที่มีความสามารถหลายๆ คน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมของเราเดินถอยหลัง แทนที่เราจะเดินก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

งานที่ชื่นชอบ (ทั้งที่ตัวเองทำหรือได้ดูมา) ?
   งานของตัวเองที่ชื่นชอบมีอยู่หลายงานค่ะ แต่งานโปรดของอิ๊งค์ต้องเป็นการแสดงละครที่ชื่อ The Nether เพราะเป็นงานดีไซน์แรกที่เราทำด้วยตัวเอง และได้รู้จักกับทั้งนักแสดง ผู้กำกับ และทีมงานที่ช่วยให้กำลังใจอิ๊งค์อยู่ตลอด และจากประสบการณ์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นจากงานนี้ เราก็เอาไปใช้เป็นแรงบันดาลใจให้กับงานอื่นๆ ค่ะ ส่วนงานที่อิ๊งค์ชื่มชมมากๆ คืองานดีไซน์ไฟของ Hugh Vanstone สำหรับการแสดง A Christmas Carol ที่แสดงที่โรงละคร Old Vic ที่ลอนดอน ซึ่งเห็นได้ชัดถึงจินตนาการของดีไซเนอร์และผู้กำกับ ซึ่งไฟนั้นไม่ได้มีอะไรหวือหวาอลังการมาก แต่ Hugh นั้นฉลาดมากในการใช้ไฟในหลายๆ จุด ให้ดูตื่นตาตื่นใจ เป็นความเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพจริงๆ ค่ะ

มุมมองต่ออนาคตของอาชีพนี้ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามาแย่งอาชีพมนุษย์ ?
   เทคโนโลยีอาจจะทำให้งานของเราง่ายขึ้น ดูดีขึ้น แต่มันจะไม่มีวันมาแทนที่ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้เพราะงานศิลปะนั้นไม่ได้ผลิตขึ้นมาได้ง่ายๆ จากโปรแกรมคอมฯ แต่คือสิ่งที่มนุษย์ได้นฤมิตมาจากความทรงจำ ความรู้สึก วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน บวกด้วยเหงื่อที่เราต้องสูญเสียไปกับงาน

ถ้าอยากมาทำอาชีพนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
   อย่างแรกเลยต้องมีความรักต่ออาชีพนี้จริงๆ เพราะวันของเรานั้นมันยาวนานมาก งานหนัก ต้องใช้สมองอยู่ตลอดเวลา และต้องรู้จักการทำงานกับคนอื่น บางครั้งเราอาจจะต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบหรือหนักกว่านั้นคือคนที่ทำให้เราร้องไห้เพราะคำพูดดูถูกของเขา เราจะต้องมีความมานะอดทน ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่นด้วย แต่ข้อที่สำคัญที่สุด คือ เราจะต้องเป็นคนที่มีความพยายามที่อยากจะทำงาน อยากจะเรียนรู้และปรับปรุงตัวเอง ทักษะความสามารถและความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ได้มาจากแค่พรสวรรค์อย่างเดียว แต่ต้องมีความพยายามกระตือรือร้นในการทำให้งานออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท้ายที่สุดนั้นอาชีพนี้เป็นงานที่คุ้มค่ามากจริงๆ กับความเครียด และความเหนื่อยล้า หลังจากที่เราได้เห็นใบหน้าของทั้งผู้ชมและนักแสดงที่มีความประทับใจในการแสดง พวกเขาจะจดจำการแสดงครั้งนั้นไปตลอดชีวิต

อาชีพ lighting Designer ไม่ว่าจะมีเพศสภาพไปในทิศทางไหนก็แล้วแต่ ก็ล้วนแล้วสามารถทำงานสายนี้ได้ทั้งนั้น ในส่วนของอาชีพ Lighting Designer นั้น ใครๆก็สามารถ มาทำได้ อยู่ที่ว่าใจคุณพร้อมรับ และอยากทำจริงจังรึปล่าว ถ้าใจคุณเปิดรับในส่วนนี้ได้คุณก็ประกอบอาชีพนี้ได้เช่นกัน

สร้างด้วย